
Table of Contents
1.มะรุม
มะรุมเป็นผักที่มีส่วนช่วยในเรื่องลดความดันโลหิต อีกทั้งยังช่วยบำรุงสายตา แก้ท้องผูกและเป็นยาบำรุงกำลัง ซึ่งหลายคนมักจะมองข้าม ทั้งๆ ที่มะรุมมีประโยชน์มากมายและยังสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายแทบทุกส่วนไม่ว่าจะเป็น ใบอ่อน ช่อ ฝักอ่อน โดยนำมาทำเป็นเมนูลวก นึ่ง หรือจะนำฝักอ่อนมาทำแกงส้มก็อร่อยแถมยังมีประโยชน์อีกด้วย สำหรับการนำมะรุมมาใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูงนั้น อาจจะนำรากหรือยอดมาต้มกิน หรือจะนำรากมะรุมมาต้มกับรากย่านางแล้วดื่ม หรือนำยอดมะรุมสดๆ นำมาโขลกคั้นน้ำให้ได้สักครึ่งแก้วแล้วนำมาผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อรับประทานวันละ 2 ครั้ง โดยควรทานแต่ละสูตรอย่างต่อเนื่องจนกว่าอาการความดันจะลดลง
2.กระเทียม
หากเป็นกระเทียมอ่อนหรือกระเทียมที่ผ่านการปรุงสุก อาจจะได้สรรพคุณในการลดความดันไม่ดีเทียบเท่ากับหัวกระเทียมแก่ ซึ่งการทานกระเทียมสดจะช่วยในการลดความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดี ซึ่งสารสกัดจากกระเทียมแก่สามารถลดความดันโลหิตลงได้ และแม้จะเป็นสมุนไพรกลิ่นฉุนที่เป็นเอกลักษณ์แต่ได้รับความนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยลดคอเรสเตอรอลได้อีกด้วย
3.ใบบัวบก
สาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงคือความเครียด ที่ถือเป็นโรคเรื้อรังและส่งผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อดื่มน้ำใบบัวบกเป็นประจำจึงจะช่วยทำให้หลอดเลือดดำและเส้นเลือดฝอยแข็งแรงและยังช่วยขยายหลอดเลือดส่งผลให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น จึงมีส่วนช่วยลดความดันโลหิต อีกทั้งยังช่วยคลายเครียดได้ดี ซึ่งความจริงแล้วน้ำใบบัวบกมีกรดมาเดคาสสิก (Madecassic acid) กรดเอเชียติก (Asiatic acid) และสารเอเชียติโคไซด์ (Asiatic side) ที่ช่วยสมานแผลและแก้การอักเสบ แก้อาการช้ำใน แถมยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย และหากดื่มเป็นประจำทุกวันจะช่วยทำให้ความดันโลหิตค่อยๆ ลดลงได้ เพียงนำใบบัวบกทั้งต้นมาคั้นเอาแต่น้ำ อาจจะผสมกับน้ำใบเตยเพื่อลดความเหม็นเขียวและเติมน้ำตาลเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติก็จะช่วยเพิ่มความหอมหวานเบาๆ แบบสุขภาพดีอีกด้วย
4.ตะไคร้
ตะไคร้เป็นพืชสมุนไพรที่หาง่ายและสามารถปลูกเป็นพืชผักสวนครัวได้ เรามักจะนำไปเป็นเครื่องปรุงต้มยำ เพราะตะไคร้มีกลิ่นหอม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตแล้ว ยังมีสรรพคุณในการขับปัสสาวะและขับลมได้อีกด้วย แถมกลิ่นหอมๆ จากน้ำมันหอมระเหยกลิ่นตะไคร้ยังช่วยบรรเทาอาการปวดหัวที่เนื่องมาจากความเครียดได้อีก ส่วนเมนูอาหารสำหรับตะไคร้นอกจากเป็นเครื่องปรุงต้มยำแล้ว ยังนำมาทำยำกุ้งหรือยำหมูตะไคร้ แม้แต่การนำตะไคร้สดมาต้มน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยก่อนอาหารเหมือนได้ดื่มชาตะไคร้อาจเติมหญ้าหวานเพื่อเพิ่มความกลมกล่อมมากขึ้น
5.ใบกะเพรา
ใบกะเพราเป็นพืชผักสวนครัวและสมุนไพรยอดนิยม ที่มักนำมาเป็นเมนูผัดกับเนื้อสัตว์ นอกจากจะช่วยดับกลิ่นคาวของอาหารแล้วยังช่วยลดความดันโลหิตได้อีก ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีความดันสูงควรหันมารับประทานกะเพราเป็นประจำ ซึ่งนอกจากการนำมาผัดเป็นเมนูอาหารแล้วการรับประทานใบกะเพราสำหรับช่วยลดความดันยังมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะนำใบมาเคี้ยวรับประทานกันสดๆ หรือนำไปคั้นแล้วผสมกับน้ำอุ่น รวมทั้งนำไปทำเป็นชากะเพราด้วยการนำไปตากแห้งแล้วนำมาชงผสมกับชาที่ชอบหรือดอกคาโมมายด์อบแห้ง ก็จะช่วยลดอาการความดันได้เช่นกัน
6.กระเจี๊ยบแดง
สารสีแดงในกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงที่ชื่อ แอนโธไซยานิน (anthocyanins) จะมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และสามารถช่วยกำจัดสารพิษในร่างกายได้ดี ทำให้มีการนำกลีบเลี้ยงไปตากแห้งแล้วนำมาต้มน้ำร้อนเพื่อชงดื่มเป็นชากระเจี๊ยบ นอกจากนี้กระเจี๊ยบแดงยังถูกค้นพบว่าเป็นสมุนไพรแก้ความดันสูงซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิตได้ เพราะหลังจากที่เข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะไปช่วยเสริมสร้างให้หลอดเลือดแข็งแรง และช่วยลดความดันโลหิตชนิด Diastolic หรือช่วยทำให้ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวลงได้ หากดื่มชากระเจี๊ยบได้วันละ 2-3 ครั้ง ยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดได้ เพียงแค่นำกลีบเลี้ยงของดอกกระเจี๊ยบไปตากแห้งแล้วนำมาบดเพื่อชงดื่มวันละ 3 เวลาก่อนมื้ออาหาร เป็นประจำทุกวันก็จะทำให้ความดันโลหิตลดลงได้
7.ขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่ายถือเป็นสมุนไพรที่ชาวเอเชียนิยมนำมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตโดยเป็นสูตรที่ใช้ต่อเนื่องกันมายาวนานกว่าว่า 2,000 ปี ชาวจีนและชาวเวียดนามเชื่อว่าการรับประทานขึ้นฉ่ายวันละ 4 ต้น จะทำให้ความดันโลหิตเป็นปกติ เพราะขึ้นฉ่ายเป็นสมุนไพรที่มีโพแทสเซียมสูง เมื่อทานประจำจะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวได้ดีทำให้ช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยขับปัสสาวะ และยังรักษาอาการปวดตามข้อต่างๆ ได้ โดยน้ำคั้นจากขึ้นฉ่ายจะช่วยทำให้รู้สึกนอนหลับสบาย อีกทั้งยังมีโซเดียมอินทรีย์ที่ช่วยปรับความเป็นกรดและด่างในเลือดให้สมดุลได้ดี สามารถนำส่วนใบและก้านมารับประทานสดหรือนำต้นสดๆ มาคั้นเป็นน้ำผัก รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะก่อนอาหาร รวมทั้งนำมาปรุงสุกก็สามารถใช้รักษาโรคความดันโลหิตได้ แต่ทานแบบสดๆ จะเห็นผลเร็วกว่า
8.ฟ้าทะลายโจร
เพราะเป็นสมุนไพรแก้ความดันสูงที่มีรสชาติขมทำให้หลายๆ คนอาจจะมองข้ามตัวเลือกฟ้าทะลายโจรนี้ แต่สำหรับใครที่เป็นโรคความดันโลหิตอยู่ให้เปลี่ยนความคิดด่วน!! เพราะสมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณมากมาย โดยเฉพาะการช่วยลดอาการความดันโลหิต ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรและพบว่า สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการช่วยลดความดันโลหิตได้ดีเพราะมีส่วนช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด และลดอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป แถมยังเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยบรรเทาอาการร้อนในได้ดี หากไม่สะดวกในการรับประทานสดๆ สามารถเลือกทานชนิดที่เป็นแบบแคปซูลหรือแบบอัดเม็ดก็ทำให้สะดวกขึ้น
9.ใบย่านาง
ใบย่านางยังมีสรรพคุณเป็นยาเย็น และมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง และยังเป็นอีกหนึ่งพืชสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ โดยใช้การตำหรือบดให้ละเอียดคั้นเอาน้ำมาปรุงเป็นอาหาร หรือจะนำใบมาต้มก็ช่วยได้เช่นกัน ใบย่านางยังถูกจัดเอาไว้ในตำราสมุนไพรว่าเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย
10.ขิง
ไม่น่าเชื่อว่าสมุนไพรโบราณอย่างขิงจะถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคมากกว่า 5,000 ปี ซึ่งไม่แต่จะมีฤทธิ์ในการช่วยย่อยอาหารเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย แต่ขิงเป็นพืชที่มีฤทธิ์ร้อนควรใช้อย่างระมัดระวังเพราะหากรับประทานมากไปอาจจะทำให้เกิดร้อนใน และแผลในกระเพาะอาหารได้